ในอดีตเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ผศ. กอบรัตน์ เรืองผกา ผู้อำนวยการและคณะผู้บริหารโรงเรียนในสมัยนั้น ได้รับนโยบายจากรัฐบาล
ให้จัดการศึกษาตามโครงการพัฒนาศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพเด็กและเยาวชน ในการสร้างศูนย์การเรียนรู้ (Resource Center)
ดังนั้นจึงได้จัดตั้งโครงการนำร่องการพัฒนาอัจฉริยภาพนักเรียนชั้น ป.1-3
ภายใต้ศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพเด็กและเยาวชน โดยเน้นการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ให้กับเด็ก
ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ตรงในการแสวงหาความรู้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาความสามารถในด้านที่ตนเองมีความสนใจ
สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น นักเรียนมีความสุขในการเรียน และเป้าหมายสูงสุดของห้องวิทยาการคือการมีส่วนร่วมในการพัฒนานักเรียนให้เป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุข
โดยจัดกิจกรรมภายในห้องวิทยาการ ( พ.ศ. 2541) ประกอบด้วย สื่อและกิจกรรมที่มีความหลากหลาย เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษา
ศิลปะ คอมพิวเตอร์และคิดสร้างสรรค์ นักเรียนชั้น ป.1-3 เข้าเรียนครั้งละครึ่งห้องเรียน 1 คาบ/สัปดาห์ ลักษณะการจัดกิจกรรมมีดังนี้
1. กิจกรรมตามความสนใจ เป็นกิจกรรมที่เตรียมไว้สำหรับแต่ละมุม ให้นักเรียนเลือกเข้าตามความสนใจ
2. กิจกรรมรวม เป็นกิจกรรมที่ช่วยเสริมทักษะหลายด้าน ในกิจกรรมเดียว เช่นเป็นกิจกรรมที่นักเรียนทุกคนทำพร้อมๆกัน โดยแบ่งเป็นกลุ่มย่อย
เช่น การสอนทำลูกชุบ ทักษะที่ได้จากกิจกรรมนี้ได้แก่ ทางด้านภาษา ได้คำที่มักบอกขั้นตอนการทำงาน คือ
เริ่มแรก..... จากนั้น ..... แล้ว ตามด้วย.... สุดท้าย... ส่วนในด้านวิทยาศาสตร์ การใช้สีจากดอกอัญชัน แครอท ด้านความคิดสร้างสรรค์ นักเรียนปั้นลูกชุบ
เป็นรูปต่างๆ ตามจินตนาการ
3. กิจกรรมต้นชั่วโมง เป็นกิจกรรมที่ใช้เวลาสั้นๆ ก่อนที่จะทำกิจกรรมตามความสนใจ หรือกิจกรรมรวม จุดประสงค์คือ
เป็นการเตรียมความพร้อมทางสมองและร่างกาย ก่อนที่จะทำกิจกรรมหลักเป็นกิจกรรมที่ฝึกความคิด ความว่องไว หรือการแก้ปัญหา เป็นต้น