การทำวิจัยใยชั้นเรียนครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาผลการเขียนคำ
การอ่านมีความสำคัญอย่างมากต่อวิถีของมนุษย์ในสังคมโลกปัจจุบัน
ในฐานะเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้สรรพวิทยาการทั้งหลาย ตามความสนใจของผู้คนทุกเพศทุกวัยทุกอาชีพ
ผู้ที่อ่านมากย่อมรู้มาก ประสบความสำเร็จมาก และได้เปรียบผู้ที่อ่านน้อยเสมอ การอ่านเป็นอาหารสมองที่ช่วยพัฒนาสมองให้เกิดความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่
นอกจากนี้การอ่านยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาอารมณ์จิตใจ ช่วยให้ผู้อ่านมีความสุขบันเทิงใจผ่อนคลายความเครียด และช่วยบำบัดอาการทางจิต
ซึ่งส่งผลต่อการลดปัญหาทางสังคมอีกด้วย จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ทำการสำรวจการอ่านของคนไทย ปี พ.ศ. 2544
ด้านการใช้เวลาว่างในการอ่านหนังสือ พบว่าคนไทยอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปใช้เวลาอ่านหนังสือ 2.99 นาที/วัน คนไทยวัย 10-14 ปี
อ่านน้อยที่สุดคือ 1.28-4.43 นาที/วัน คนไทยไม่ว่าจะอยู่ในเมือง นอกเมือง แยกตามวัย หรือแยกตามเพศ ใช้เวลาอ่านไม่แตกต่างกันมากนัก
คือ 1.28-4.43 นาที/วัน จากข้อมูลดังกล่าว คนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือน้อยมาก จึงจำเป็นต้องร่วมมือกันรณรงค์ส่งเสริมการอ่านทั้งในภาครัฐบาลและเอกชนอย่างกว้างขวาง
โดยเฉพาะในปี พ.ศ 2546 รัฐบาลประกาศให้เป็นปีแห่งการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ ได้มีการดำเนินการและจัดกิจกรรมต่าง ๆ
เพื่อส่งเสริมและสร้างนิสัยรักการอ่านแก่เยาวชน ฉะนั้นการเริ่มต้นปลูกฝังรักหนังสือควรเริ่มต้นตั้งแต่เด็กเล็กเพราะวัยนี้เป็นวัยที่ซึมซับและปลูกฝังลักษณะนิสัยต่าง ๆ
ได้ง่าย การสร้างความสนใจให้เด็กอยากอ่านหนังสือเป็นการวางพื้นฐานการรักอ่านและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของเด็กต่อไป
การส่งเสริมการอ่านให้กับเด็กปฐมวัยนั้น บ้านและโรงเรียนควรร่วมมือกันสนับสนุนและส่งเสริมการอ่านให้กับเด็ก
เพื่อพัฒนาคุณภาพให้เด็กแกร่งและเก่งเพียงพอต่อการมีทักษะการดำรงชีวิตของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน
แนวทางในการส่งเสริมการอ่านให้กับเด็กปฐมวัย
1. จัดบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก ได้แก่ การจัดมุมหนังสือให้มีแสงสว่างที่พอเหมาะในการอ่าน ชั้นวางหนังสือที่เด็กสามารถหยิบและจัดให้เป็นระเบียบ
2. สำรวจความต้องการอ่านของนักเรียน เพื่อจัดหนังสือให้ตรงตามความต้องการและเหมาะสมกับวัยของเด็ก
3. จัดป้ายนิเทศหมุนเวียนเปลี่ยนให้บ่อย ๆ เพื่อเป็นแรงดึงดูดใจและกระตุ้นให้นักเรียนสนใจอยากอ่าน
4. จัดการเรียนการสอนที่เน้นให้นักเรียนค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง เช่น การสอนแบบโครงการ
5. กระตุ้นและสร้างความสนใจให้อยากรู้เรื่องราวในหนังสือด้วยการจัดนิทรรศการ แนะนำหนังสือใหม่ เล่าเรื่องประกอบ อ่านหนังสือให้นักเรียนฟังทุกวัน สนับสนุนให้นักเรียนได้เล่าเรื่องที่อ่านให้เพื่อน ๆ ฟัง
6. ครูเป็นแบบอย่างที่ดีในการอ่าน โดยการอ่านหนังสือให้นักเรียนเห็นและพูดคุยกับนักเรียนเกี่ยวกับราวของหนังสืออยู่เสมอ ครูเป็นกันเอง ยิ้มแย้มแจ่มใส กระตุ้นให้เด็กรักการอ่านด้วยปิยวาจา เพื่อให้นักเรียนเกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน โดยไม่บังคับ ให้กำลังใจและยกย่องชมเชยเมื่อนักเรียนแสดงความสนใจในการอ่าน
7. ให้หนังสือเป็นรางวัลในโอกาสต่าง ๆ เช่น เมื่อทำความดี ตอบคำถามถูกต้อง หรือเมื่ออ่านหนังสือได้จำนวนมาก
อาจสรุปได้ว่าแนวทางในการส่งเสริมการอ่านให้กับเด็กปฐมวัย โดยการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้พบเห็นหนังสือหลากหลาย ตรงกับความสนใจและความเหมาะสมกับเด็ก
จัดบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมเอื้อต่อการเรียนรู้ เป็นแบบอย่างที่ดีในการอ่านให้แก่เด็ก ให้กำลังใจและเสริมแรง กระตุ้นให้เด็กรักการอ่านด้วยความรู้สึกทีเต็มใจมิได้บังคับ
การจัดสภาพแวดล้อมในมุมหนังสือเพื่อส่งเสริมการอ่านให้กับเด็กปฐมวัย
1. ปรับปรุงมุมหนังสือในห้องเรียนให้มีพื้นที่ในการสอยมากขึ้น และตกแต่งด้วยการ์ตูน
สวย ๆ สดใสสะดุดตา จัดบอร์ด ป้ายนิเทศเชิญชวนให้นักเรียนอยากเข้ามาในมุมหนังสือ
2. จัดหาหนังสือที่หลากหลายประเภท ได้แก่ หนังสือนิทานภาพ หนังสือนิทานสามมิติ หนังสือนิทานผ้า และ หนังสือนิทานรูปทรงต่าง ๆ เพียงพอกับความต้องการของนักเรียน
3. จัดอุปกรณ์ที่เอื้ออำนวยต่อการส่งเสริมการอ่าน เช่น เครื่องเล่นวิทยุ หูฟัง เทปเพลง เทปนิทาน ให้หลากหลายประเภทและเหมาะสมเพียงพอกับความต้องการของนักเรียน
4. จัดอุปกรณ์เอื้ออำนวยความสะดวกในการอ่าน ได้แก่ หนอนอิง โต๊ะญี่ปุ่น ตุ๊กตา หุ่นมือ
กิจกรรมส่งเสริมการอ่านในมุมหนังสือ
1. กิจกรรมแนะนำหนังสือ เป็นการแนะนำหนังสือผ่านกระบวนการเล่นเกมการศึกษา ได้แก่ จิกซอ โดมิโน เกมจับคู่ โดยครูจัดทำเกมการศึกษาเหล่านี้ขึ้นโดยการนำภาพปกหนังสือนิทานเป็นภาพในเกม เมื่อนักเรียนเล่นเกมเสร็จครูแนะนำว่า หนังสือเล่มนั้น ๆ ดีอย่างไร สนุกตรงไหน และเลือกอ่านข้อความบางตอนที่น่าสนใจให้เด็กฟังด้วย นอกจากนี้ยังเป็นกิจกรรมที่ได้ฝึกการสังเกต คาดคะเน รูปร่างรูปทรง ฝึกจำแนกความแตกต่างและความเหมือนด้วยสายตา
2. กิจกรรมการอ่านร่วมกัน เป็นกิจกรรมการอ่านนิทานร่วมกัน ระหว่างครูกับเด็ก เด็กกับเพื่อน ซึ่งการอ่านร่วมกันจะทำให้เด็กอ่านได้อย่างสนุกสนาน ได้รับประสบการณ์และรู้จักแบ่งปัน ช่วยเหลือ และร่วมมือกันโดยปราศจากบังคับ นอกจากนี้เด็กยังสามารถยืมหนังสือนิทานกลับไปอ่านร่วมกับพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ที่บ้าน เป็นการเปิดโอกาสให้ครอบครัวได้มีกิจกรรมร่วมกันและเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีภายในครอบครัว
3. กิจกรรมเล่านิทาน เป็นกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่เหมาะกับเด็กมากที่สุด เพราะเด็กวัยนี้ยังไม่สามารถอ่านหนังสือด้วยตนเองได้ การฟังนิทานจึงเป็นสื่อสร้างความสนุกสนานให้กับเด็กและยังเป็นวิธีการสอนเด็กโดยไม่ให้เด็กรู้ตัว วิธีการเล่านิทานที่น่าสนใจได้แก่ การเล่านิทานปากเปล่า การเล่านิทานประกอบหนังสือ และการเล่านิทานประกอบสื่อ เช่น หุ่นนิ้ว การพับกระดาษ การปั้นดินน้ำมัน เป็นต้น
จากเอกสารงานวิจัยของอาจารย์วชิราภรณ์ ชุมพล